ใครที่มีคำถามว่า มีเงินอยู่ 10,000 ก้อน จะลงทุนอะไรดีให้มีแต่งอกเงย บทความนี้เราได้รวบรวมวิธีมาฝากการลงทุนที่เริ่มต้นด้วยเงิน 10,000 บาท ตามไปดูกันค่ะว่ามีวิธีอะไรบ้าง แต่ละวิธีเหมาะกับใคร เริ่มต้นลงทุนยังไง
การลงทุนมีความเสี่ยงแต่ถ้าเราไม่ลงทุนก็เสี่ยงเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นถ้าวันนี้คุณมีเงิน 10,000 บาท แล้วเก็บ 10,000 บาทไว้เฉยๆโดยไม่ต่อยอด ไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตอีก 1ปี 3 ปี ข้าง หน้า เงิน 10,000 บาทก็จะซื้อของได้น้อยลง เพราะภาวะเงินเฟ้อ และของอุปโภคบริโภคต่างๆมีราคาที่ปรับตัวสูงเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ถ้าเราเรียนรู้วิธีการลงทุนก็สามารถทำให้เงินก้อนนี้งอกเงยขึ้นมาได้ซึ่งคนที่เป็นมือใหญ่ และเพิ่งจะเริ่มต้นอาจมีความกังวลมีความกลัวว่าจะเสียเงินต้นไปไหม ? หรือไม่รู้ว่าจะเอาไปลงทุนอะไรดี ไปดูวิธีเหล่านี้กันค่ะ
4 ขั้นตอนที่ต้องพิจารณาก่อนการลงทุน
1.เงินที่จะนำมาลงทุนเป็นเงินเย็นแค่ไหน และมีแผนการที่จะใช้เงินก้อนนี้ตอนไหน ยกตัวอย่างเช่น เป็นเงินเก็บในอนาคตอีก 3 ปี ข้างหน้า ก็คือในระยะเวลาก่อน 3 ปีนี้ คุณยังไม่ต้องการใช้เงินก้อนนั้นก็แสดงว่าลงทุนในระยะยาวได้ แต่ถ้าอีก 3-6 เดือนต้องใช้เงินก้อนนี้แสดงว่าเราลงทุนได้ในระยะสั้นๆ
2.การประเมินความเสี่ยง ต้องดูว่าคุณรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องพิจารณาจากเป้าหมายของตัวเรา และต้องไม่ลืมว่า ความเสี่ยงจะแปรผันกับผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำ ความเสี่ยงสูงผลตอบแทนก็สูง แต่ก็มีโอกาสขาดทุนมากขึ้น
3.เป้าหมายของการลงทุน เพราะถ้าเราไม่รู้เป้าหมายของการลงทุน เราก็ไม่รู้ว่าเราควรที่จะลงทุนแบบไหน ไม่รู้ว่าความสำเร็จของการลงทุนอยู่ตรงไหน โดยการตั้งเป้าหมายอาจจะเป็นผลตอบแทนที่คาดหวังต่อปี ยอดเงินที่เป็นเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น เก็บเงินเพื่อเกษียณ 5 ล้านบาท เก็บเงินดาวน์บ้าน 5 แสนบาท เราต้องรู้ว่าเราลงทุนไปทำไม
4.ความพร้อมในการลงทุน ดูว่าเรามีความรู้ในการลงทุนมากพอหรือยัง ถ้ามีมากเราก็ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นได้ แต่ถ้าเรายังมีความรู้เรื่องการลงทุนไม่มาก เราก็ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำไปก่อน แล้วค่อยศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น

วิธีที่ 1 นำเงินไปฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง เป็นการลงทุนที่มีสภาพคล่องสูง และสามารถนำเงินไปใช้ได้ตลอดเวลาก็เหมือนกับการฝากเงินออมทรัพย์ทั่วไป แต่จะไม่มีสมุดคู่ฝาก เพราะเป็นการฝากแบบดิจิตอล เหมะกับคนยุคใหม่ในสังคมที่ไร้เงินสด โดยเงินฝากประเภทนี้จะให้ดอกเบี้ยสูงสุด 2 % ต่อปี การลงทุนประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนก็น้อยไปด้วย เงินลงทุนขั้นต่ำ 1 บาทก็ลงทุนได้แล้ว ซึ่งถ้าอยากได้ดอกเบี้ยที่เห็นผลก็ต้องฝากตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป วิธีนี้เหมาะกับการเป็นที่เอาไว้พักเงิน เพื่อเตรียมใช้จ่าย วิธีนี้เราสามารถลงทุนได้ที่ Mobile Banking ของธนาคารที่ให้บริการ

วิธีที่ 2 เงินฝากประจำปลอดภาษี เป็นเงินฝากประเภทที่ต้องฝากเท่ากันทุกเดือนเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดเช่น 24 เดือน 36 เดือน จึงจะได้รับดอกเบี้ยตามที่ประกาศไว้
จุดเด่นของการฝากเงินประเภทนี้จะอยู่ที่ว่า เราไม่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15 % ต่อปี เท่ากับว่าได้ดอกเบี้ยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งการลงทุนแบบนี้ ผลเสี่ยงต่ำ ค่าตอบแทนน้อย เงินลงทุนขั้นต่ำ 500 บาท วิธีลงทุนนี้เหมาะกับคนที่อยากสร้างวินัยในการออมเงิน มีเป้าหมายเป็นเงินก้อนใหญ่ปลายทาง รับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่ต้องกลัวขาดทุนเงินต้น สาขาฝากได้ทุกธนาคาร

3.การลงทุนซื้อสลากออมทรัพย์ วิธีนี้จะถูกใจคนสายชอบลุ้น เหมาะกับคนที่ชอบลุ้นเงินรางวัลแต่ไม่อยากให้เงินต้นหาย เพราะเราจะได้ลุ้นรางวัลใหญ่ หลักล้านบาททุกเดือน รวมไปถึงดอกเบี้ยและเงินรางวัลที่เราได้รับจากการฝากสลากออมทรัพย์ ไม่เสียภาษี แต่ดอกเบี้ยจะน้อย เพราะความเสี่ยงต่ำมาก เงินลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่ว่าจะซื้อสลากรุ่นไหน มีตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป เหมาะกับคนที่ต้องการออมเงินและลุ้นรางวัลใหญ่ ถ้าสนใจก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของธนาคาร รวมถึงสาขาของธนาคารที่ให้บริการ เช่น ออมสิน ธอส. ธกส.

4.การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เป็นการลงทุนที่เหมือนเราเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล เพราะรัฐบาลออกพันธบัตรมา เราซื้อพันธบัตรก็อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ รัฐบาลก็อยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ การลงทุนแบบนี้จะได้รับดอกเบี้ยระหว่างทาง และได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่าวิธีที่ 1-3 ซึ่งยังเป็นการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำ เพราะมีการการันตีจากกระทรวงการคลังว่ามีเงินจ่ายคืน วิธีการซื้อพันธบัตรรัฐบาล บางรุ่นจำหน่ายผ่านแอปเป๋าตังค์ การลงทุนแบบนี้ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทน ต่ำ-ปานกลาง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของพันธบัตรว่ามีรุ่นกี่ปี การลงทุนขั้นต่ำ 100 บาทก็ลงทุนได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นรุ่นไหน เหมาะกับคนที่ต้องการการลงทุนระยะกลาง-ระยะยาว และไม่ต้องการความเสี่ยง .สนใจติดต่อได้ที่เว็บไซต์ของธนาคาร หรือ Mobile Banking ของธนาคาร
ติดตามอ่านอีก 6 วิธีในการลงทุนด้วยเงิน 10,000 ในบทความต่อเนื่องตอนที่ 2