เป็นเรื่องแปลกแต่ต้องยอมรับความจริงที่ว่า คนเราแทบทุกคนจะชอบพูดมากกว่าฟัง หลายคนพยายามที่จะหาคอนเนคชั่นมาอย่างยากลำบาก เพราะมองข้ามไปว่า ควรเปิดโอกาสให้คู่สนทนาเหล่านั้นได้พูดบ้าง การที่พูดคุยแต่เรื่องของตัวเอง นำเสนอสิ่งดี ๆ ของธุรกิจที่กำลังทำ โดยไม่สนใจว่าคนรอบข้างจะเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่เราได้พูดคุยไปหรือไม่ ดังนั้น ใครที่อยากสร้างคอนเนคชั่นขั้นเทพ ต้องเริ่มต้นจากการเป็นผู้ฟังที่ดี ก็จะทำให้มีแต่คนรัก อยากสนทนาด้วย และนี่เป็นเทคนิคสำคัญที่จะช่วยสร้างบรรยากาศดี ๆ มีมิตรที่เอื้อประโยชน์ต่อกันได้อย่างที่ตั้งใจ

สร้างคอนเนคชั่นขั้นเทพง่าย ๆ แค่ตั้งใจฟัง
1. รอให้คู่สนทนาเปิดประเด็น ในการพบเจอผู้คนตามสถานที่ต่าง ๆ เมื่อทักทายตามปกติ พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบแล้ว ควรเงียบรอให้ผู้ที่อยู่ตรงหน้าเราเป็นคนเปิดเรื่องสนทนา เพราะหากเราเป็นคนเริ่มต้นประเด็นก่อน อาจจะเผลอพูดในสิ่งต่าง ๆ ออกไปแบบไม่รู้ตัว และแน่นอนว่าการพูดก่อนจะกลายเป็นว่าเราอยากนำเสนอสิ่งต่าง ๆ โดยที่เขายังไม่ทันได้ถาม ความน่าสนใจของเรื่องที่เล่าจึงไม่มี และไม่เกิดความประทับใจกับคู่สนทนาขึ้นได้ ดังนั้น การเงียบ และตั้งใจฟังในสิ่งที่เขาจะเล่าก่อน แล้วคิดคำถามที่มีความสำคัญในการถามกลับไป
2. เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะชอบพูดมากกว่าฟัง เพราะการพูดเหมือนกับการระบายความในใจออกมา ทำเกิดความสบายใจ ต่อให้รู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากธรรมชาติของคนเราต้องการเป็นผู้พูดมากกว่าการฟังเสมอ ในทางกลับกัน หากต้องนั่งฟังผู้อื่นนาน ๆ ต้องใช้ความอดทนสูง จึงเป็นเรื่องปกติที่หลายคนเลือกที่จะไม่ทำ ดังนั้นการที่เราอดทนฟังคู่สนทนาอย่างใจจดใจจ่อ จะช่วยสร้างให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความประทับใจ รู้สึกดี มองเราเป็นคนที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ
3. ถามประเด็นสำคัญให้คนที่อยู่ตรงหน้าระบายออกมา โดยส่วนใหญ่บทสนทนาจะไม่มีใครเริ่มระบายความในใจให้คนแปลกหน้าฟัง ดังนั้นการถามประเด็นที่สำคัญ ที่ไต่ตรองไว้แล้วว่าไม่มีผลกระทบต่อการพูดคุยนั้นโดยใช้คำถามเชิงบวกคิดอย่างชาญฉลาด ก็จะช่วยสร้างให้คู่สนทนาเกิดความภูมิใจที่อยากจะเล่า

4. เล่นต่อคำให้การสนทนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การฝึกทักษะการตั้งคำถามบ่อย ๆ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญควบคู่ไปกับการเป็นผู้ฟังที่ดี เพื่อให้คู่สนทนารู้สึกว่าการพูดคุยในประเด็นต่าง ๆ มีความเป็นธรรมชาติ ไหลลื่น โดยเราต้องพยายามจับเนื้อหาใจความที่สำคัญ แล้วหยิบยกมาถามต่อ คล้ายกับว่าเป็นการเล่นต่อคำไปมา สอบถามรายละเอียดให้ลึกลงไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้การสนทนาเป็นไปด้วยความสนุก และทำให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ นอกจากนี้ยังได้คอนเนคชั่นที่ดีอีกด้วย
5. ไม่ควรแทรกระหว่างที่เขาพูด คุณสมบัติของผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพคือ การไม่พูดแทรกหากคู่สนทนายังพูดไม่จบ ต้องรอจนแน่ใจว่าเขาได้พูดคุยออกมาหมดแล้วจึงค่อยถาม แทรก หรือตัดบท ไม่ควรพูดขัดเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เขาเกิดความรำคาญและสะดุดกับการเล่าเรื่องราวเหล่านั้นได้ หรือมีประเด็นที่ต้องแทรกเข้าไปจริง ๆ ควรใช้ท่าทาง สะกิด ยกมือ แล้วใช้คำพูดบอกว่า “ขอโทษครับ ขอแทรกประเด็นตรงนี้นิดนึงจะได้ไหม” จะทำให้คนที่อยู่ตรงหน้าเราไม่รู้สึกว่าถูกขัดจังหวะการพูดคุยมากจนเกินไป
สร้างความประทับใจแรก เมื่อได้เริ่มต้นพูดคุย
การสร้างคอนเนคชั่นไม่ใช่เรื่องยากและไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นอกจากการเป็นผู้ฟังที่ดีแล้วสิ่งที่สำคัญคือการยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ เพราะจะช่วยดึงความสบายใจและบรรยากาศการสนทนาได้เป็นอย่างดี ทำให้คู่สนทนาและผู้คนรอบข้างรู้สึกถึงความเป็นมิตร น่าคบหา นอกจากนี้การสร้างอารมณ์ขันเล็ก ๆ ในวงพูดคุย ก็เป็นการสร้างความประทับใจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ควรสร้างมุกตลกที่ไปกระทบต่อผู้อื่น ทางที่ดีคือการล้อตัวเอง จะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกเป็นกันเอง ไม่ทำให้ใครลำบากใจ และอาจจะทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนไม่ถือตัว กล้ายอมรับความจริงอีกด้วย อีกทั้งในบทสนทนาไม่ควรพูดเอาความดีเข้าตัว และไม่กล่าวให้ร้ายกับใคร เพราะจะทำให้คู่สนทนารู้สึกไม่ประทับใจ ว่าเรากำลังข่มผู้อื่นและยกยอตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่สุดของการสนทนาคือการพยายามจำชื่อคนที่อยู่ตรงหน้าให้ได้ เพื่อคราวต่อไปการทักด้วยการเรียกชื่อจะสร้างความรู้สึกดีเป็นคอนเนคชั่นที่ดีให้เราต่อไปในอนาคต

การสร้างคอนเนคชั่นไม่ว่าจะในทางธุรกิจหรือในชีวิตประจำวัน ควรจำไว้เสมอว่าการเป็นผู้ฟังที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการสนทนาในครั้งนั้น ไม่ควรพูดแทรก หรือถามคำถามที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะนอกจากจะไม่ได้คอนเนคชั่นที่ดีแล้ว ยังอาจจะทำให้ไม่มีใครอยากเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเราอีกเลยก็ได้
เครดิตภาพ : prachachat.net / thumbsup.in.th / me-mindset.com