ตอนที่ 3 กับ โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ โค้ชทางการเงินที่เข้าถึงคนไทยทุกระดับมากที่สุดในวันนี้ ถึงแนวทางแก้ปัญหาสำหรับคนที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่ คือกลุ่มหนี้ผ่อนรถ หนี้ผ่อนบ้าน ในช่วงวิกฤติโควิด ติดตามอ่านกันคำแนะนำมาเป็นประโยชน์ต่อกันเลยดีกว่า
“สำหรับ คนที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่อย่างบ้าน รถยนต์ ช่วงนี้ทางสถาบันการเงินต่างก็เปิดโอกาสให้เจรจาด้วยเงื่อนไขด้วยทางออกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลดค่างวด การขอพักชำระงวด การพักส่งดอกเบี้ย ยกเว้นว่าก่อนหน้านั้นคุณได้ทำอะไรเกินตัวมาก่อนจริง เช่น หลายคนมีการกู้และลงทุน บ้านหลังที่ 2,3,4 ถ้าเป็นเช่นนั้น

ในช่วงเวลาแบบนี้คงต้องเหนื่อยมาก เพราะคนที่เช่าบ้านของคุณเขาก็หายไป จึงขาดรายได้ที่จะนำส่งธนาคาร ประกอบกับที่คุณก็ไม่ได้เตรียมเรื่องเงินทุนสำรองอะไรไว้ แต่การไปคุยเจราในเรื่องการพักชำระ ลดยอดผ่อน ลดยอดดอกเบี้ยก็ถือมีโอกาสผ่านได้มาก ยกเว้นว่ามีการสะสมภาระหนี้มากเกินไปจนเกินเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้นๆ ซึ่งถ้าเจราจาไม่ได้ก็ต้องกลับมาเข้าสูตรเดิมที่แนะนำ
คือหาช่องทางรายได้เพิ่มด้วยความสามารถที่ตนเองมี โดยไม่ไปกู้ยืมใครที่ไหนเพิ่มหนี้มาอีก หรือถ้าใครคิดที่จะขายรถยนต์ หรือบ้านที่อยู่มากกว่า หนึ่งคัน หนึ่งหลัง ในช่วงนี้ ถ้าในส่วนของตลาดรถมือสองก็อาจจะขายยากหน่อย เพราะมีคนขายไปเยอะแล้วตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของวิกฤติโควิดแล้ว เต้นท์รถมือสองจึงไม่ค่อยรับซื้อ หรือถ้าซื้อก็กดราคา

ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยก็ต้องพิจารณากันไปตามจุดที่ตั้งว่าเป็นที่นิยมหรือเปล่า ซึ่งก็คงขายไม่ได้ราคาดีเหมือนเวลาปกติ ซึ่งบ้านแย่สุดก็คือขายเท่ากับหนี้ที่ติดอยู่ คือซื้อมา 1 ล้านขายได้1 ล้านเท่าทุนได้ก็เก่งแล้วเรื่องจะขายเอากำไรคงเป็นไปได้ยาก วิกฤติแบบนี้ให้ขายเพื่อเอาหนี้ออกไปจากภาระเสียก่อน เช่น มีหนี้ 850,000 ขาย 900,000 ก็ต้องขาย จะดีกว่า…เพราะว่าเราเดือดร้อนอยู่…
ผมอยากบอกว่าเวลาที่เกิดทุกๆวิกฤติ จะมีคนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่ได้รับผลกระทบในทางลบ และคนอีกกลุ่มที่ดูแลเรื่องการเงินมาดีตลอด เก็บเงินมาโดยตลอด กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่อยากจะลงทุน ใครที่มีเงินแล้วอยากจะซื้อบ้านตอนนี้ก็ถือเป็นโอกาสดี เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ตกไปเยอะมาก สิทธิประโยชน์ที่ได้รับก็เยอะมาก
แต่อย่างไรก็ต้องประเมินเผื่อด้วยว่า ถ้าคิดจะลงทุน ตัวแหล่งรายได้ของคุณมีความมั่นคงแค่ไหน ถ้ามั่นคงดี และกำลังการผ่อนบ้านพอไหวก็ลุย ที่ว่าพอไหวคือต้องผ่อนไปเกิน 40 %ของรายได้ อย่าใช้คำว่ากัดฟันผ่อนไป เดี๋ยวอะไรก็ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ก็ต้องไปกัดลิ้นกัดปากจนห้อเลือดในที่สุด อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า เพราะข้างหน้าก็มีโอกาสจะแย่ได้อีกเหมือนกัน
สรุปคือ การวางแผนการเงินที่ดี ต้องอยู่ได้ทั้งเวลาที่สถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ไม่ปกติ”
“ สำหรับผลกระทบของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ตอนนี้ที่หนักที่สุดคือกลุ่มที่เป็นเจ้าของธุรกิจ SME เพราะสำหรับประชาชนทั่วไปจะได้รับสิทธิ์เยียวยา หรือมีมาตรการช่วยเหลือเยอะ แต่ทางฝั่งธรกิจ SME ซึ่งเป็นลักษณะของเงินกู้ ที่มีเรื่องการผ่อนปรนจะไม่เท่ากับบุคคลธรรมดา และมาตรการช่วยเหลือก็เข้าไม่ค่อยถึง อีกทั้งสถานการณ์ก็ค่อนข้างลักหลั่น เพราะไม่รู้ว่าโควิดจะจบเมื่อไหร่? จะมีมาใหม่อีกละลอกไหม? ตอนนี้แม้จะ open lock down แล้วแต่ยอดขายก็ยังไม่ดีเหมือนเดิม ค่าเช่าสถานที่ก็เริ่มเก็บเป็นปกติ ในส่วนพนักงาน จะเอาออกเพราะว่างงานก็กลัวว่าพอกลับมาดีจะหาคนทำงานไม่ได้ เถ้าแก่ธุรกิจ SME จึงรับสถานการณ์หนักมากที่สุดตอนนี้ และรู้สึกเหมือนว่าจะเป็นช่องว่าง ไม่มีใครนึกถึง

ปัญหาที่เกิดอย่างแน่นอนคือ สภาพคล่องเสียหายมาก เรื่องของการไม่วางแผนสำรองเงินก็อีกส่วนหนึ่ง แต่ลักษณะของSME เวลาทำการค้าการขาย แม้ตัวธุรกิจของเขายังดียังขายได้ แต่ลูกค้าของเขาพัง การเงินไม่ดีเขาก็ไม่จ่าย ในขณะที่ SME ก็มีหนี้ตัวเองก็ต้องจ่ายธนาคาร แต่ลูกหนี้การค้าดันมาเบี้ยว มันจึงพังทั้งระบบ ซึ่งในการแก้ปัญหาของกลุ่มSME ผมก็แนะนำว่าถ้ามีตัวลูกค้าที่เป้นลูกหนี้ก็ให้เข้าไปเจรจา เข้าไปปรับโครงสร้าง ซึ่งผมก็อยากย้ำว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือเจ้าของกิจการ อย่าประเมินสถานการณ์ทุกอย่างดีเกินไป…
…แนะนำว่าแม้เป็นเจ้าแก่ ก็ควร1.เถ้าแก่ก็ควรทำงบการเงินทำไปข้างหน้า 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งเราก็รู้ชะตากรรมอยู่แล้วว่ามันเสี่ยง แล้วไปคุยกับธนาคารไปเจรจา อย่าปล่อยให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นแล้วค่อยไปคุย อันนี้มันคุยไม่ได้แล้ว 2.เถ้าแก่ทุกคนต้องตรวจสอบลูกหนี้การค้า ว่าเรามีลูกหนี้การค้าที่รอเก็บเงินแค่ไหนอย่างไรบ้าง? ให้ไปคุยกับลูกหนี้การค้าเลยว่า ถ้าจ่ายเร็วขึ้นจะมีส่วนลดอย่างไร ทั้งนี้เพื่อดึงเงินสดเข้ามือ 3.หันไปมองในสต็อกในคลังสินค้า ของอะไรที่เป็นต้นทุนจม ถ้ามันเป็นสินค้าที่มีความต้องการขายมันออกมา มีโปรโมชั่น มีลดราคาอะไรก็ดันมันออกมา เพราะสถานการณ์ตรงนี้ เราต้องการเงินสด”
“ หลังโควิดหายไป เรื่องสำคัญในการวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำ ผมไม่คิดว่าจะมี NEW Normal นะ เพราะจริงๆการเงินมันมี Normal อยู่อันหนึ่ง ซึ่งคนได้ใช้ชีวิตเบี่ยงหนีออกจาก Normal อันนี้ไปนานแล้ว ผมเลยอยากจะช่วยทุกคนกลับมาสู่ Normal อันเดิมดีกว่า ซึ่ง Normal ที่ว่านั้นก็คือ
1.เรื่องการออมซึ่งการออมที่ดีๆควรจะออมที่ 20 %ของรายได้หรือมากกว่า
แต่ถ้ายังไม่ได้ก็เริ่มต้นที่ 10 % ถ้ายังไม่ถึง 10% ก็ค่อยๆไต่บันไดขึ้นมา เพราะคนที่มีการออมจะสามารถสะท้อนได้ว่า เค้ามีความพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน และเขามีโอกาสที่จะต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่ง เพราะคนออมจะมีเงินลงทุน ดังนั้นหลังโดวิด มาปรับกัน ใครที่เคยออมไม่ได้ กลับมาเริ่มต้นออม
เรื่องที่ 2 ควรใช้ชีวิต ประคองตัวเอง ดูแลตัวเองให้มีอัตราส่วนการชำระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 45-50 %
ความหมายคือ เวลาเราได้เงินมา 100 บาท ใน 100บาทต้องจ่ายหนี้ไม่เกิน 50 บาท เพราะถ้าจ่ายไปมากกว่านั้นจะไม่สามารถมีเงินออม และเงินลงทุนได้ และถ้าจ่ายหนี้แค่ 40-45 บาท จะดีมากๆ เพราะคุณจะมีเงินออมได้แน่นอน
ถ้าคุณคอนโทรลตรงนี้ได้ตลอดเวลา เท่ากับว่าเรากำลังช่วยประเทศในกรณีลดหนี้ครัวเรือน และเมื่อไหร่มีแรงๆมากระทบเหมือนโควิดเราก็ยังรับมือได้ ซึ่งหนี้ 50 %ที่ผมพูดต้องรวมถึงหนี้บ้าน หนี้รถด้วยนะ แต่ถ้าเป็นแค่พวกหนี้บัตรเครดิตเป็นไม่เกิน 15 % ก็พอ ดังนั้น นอร์มอนก็คือ พยายามใช้เงินบริหารให้ถูกต้อง
เรื่องที่ 3 พยายามใช้ชีวิตอยู่บนรายได้ที่มีอยู่ให้ได้
ไอ้สโลแกนที่ชอบพูดกันว่า “เงินเดือนเอาไว้ใช้หนี้ โอที คอมมิชชั่นเอาไว้กิน” นั่นมันไม่ใช่ Normal แต่ที่เป็น Normal
และอยากให้คิดให้ทำก็คือ “ เงินเดือนเอาไว้กินใช้ โอที คอมมิชชั่น เอาไว้ลงทุน” คือเราต้องคอนโทรลการกินอยู่ให้อยู่ในเงินเดือนให้ได้ เวลาที่เกิดเรื่องไม่คาดฝันจะได้ก็ยังอยู่ได้ โอที คอมมิชชั่นลดก็ยังอยู่ได้ ดังนั้นหลังโควิดหายต้องเปลี่ยนวิธคิดได้แล้ว
เรื่องที่ 4 คือ ควรต้องมีรายได้มากกว่าหนึ่งทาง
ถ้าคุณถนัดทำอาชีพเสริมก็ทำไป แต่ถ้าไม่มีอะไรถนัดก็ควรต้องมองเรื่องการลงทุนเอาไว้ ทุกคนไม่ได้เกิดมาพร้อมกับศาสตร์การลงทุนในตัว เราไม่มีมันมาเลย เราจึงต้องเรียนรู้ มันหมดยุคที่เอาเงินไปฝากธนาคารเฉยๆแล้วอยู่ได้แล้ว เพราะดอกเบี้ยเงินฝากเดี๋ยวนี้ ต้องขยี้ตาถึงจะมองเห็น
เพราะมันน้อยมาก ดังนั้นการลงทุนมันเป็นศาสตร์ มันมีความรู้ที่จำเป็นต้องเรียน คุณต้องเปลี่ยนความรู้ทางด้านการเงินที่เคยคิดว่า ว่า หาให้ได้เยอะๆ เดี๋ยวชีวิตก็ดีเอง มันไม่จริงอีกแล้ว เพราะเงินมันมี 4 ด้านนะ คือ หารายได้, ใช้จ่ายให้เงินเหลือ, ออมเป็นสัดเป็นส่วนว่าอันไหนสำรอง อันไหนลงทุน, และสุดท้ายลงทุนให้เป็น
ดังนั้นยุคหลังโควิด ถ้าคุณลงทุนไม่เป็น และคุณไม่ศึกษาก็ยากที่การเงินคุณจะดี อันนี้เป็น Normal ที่ควรจะเป็น เป็นสิ่งที่เราละเลยกันไปนาน ไม่ใช่ New Normal แต่อย่างไร
และบทความทั้ง 3 ตอน ก็ได้แนะนำแนวทางในการ จัดการวางแผนการเงินในยุควิกฤติ โควิด-19 รวมทั้งให้ความรู้วิเคราะห์สถานการณ์การเงินโดยรวมของคนในประทศ และยังปิดท้ายด้วยการวางแผนทางการเงินหลังเหตุการณ์วิกฤติโควิดหายไปให้ด้วย ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอทั้งหมดนี้ได้จากการพูดคุยไลฟ์สดของ ห้องสมุดมารวย ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์ กูรูทางการเงินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ จึงเชื่อว่า คุณจะได้รับประโยชน์จากบทความทั้ง 3 ตอนนี้อย่างมากมาย
#โค้ชหนุ่มจักรพงษ์ #Covid-19 #วิธีเก็บเงิน